วัดนางพญา
วัดเก่าแก่ ตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา วัดนี้ตั้งอยู่ติดกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ และวัดราชบูรณะ แต่เดิมวัดนางพญาและวัดราชบูรณะมีอาณาเขตติดต่อกัน แต่พอมีการสร้างสะพานสมเด็จพระนเรศวรและสร้างถนนตัดผ่าน จึงแยกวัดนางพญาและวัดราชบูรณะอยู่กันคนละฝั่งถนน วัดนางพญาจึงเหลืออาณาเขตเล็กๆ เท่านั้น การได้ชื่อว่า “วัดนางพญา”ชื่อของ พระนางพญา น่าจะมาจากสถานที่ที่ค้นพบนั่นเอง
วัดนางพญานี้สันนิษฐานว่า ผู้สร้างพระนางพญาคือ พระวิสุทธิกษัตรีย์ พระ มเหสีของพระมหาธรรมราชา และทรงเป็นพระราชมารดาของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช พระองค์ทรงสร้างพระนางพญาขึ้นในคราวบูรณะปฏิสังขรณ์วัดราชบูรณะ ราวปี พ.ศ. 2090 – 2100 ขณะนั้นพิษณุโลกเป็นเมืองลูกหลวง และพระองค์ดำรงพระอิสริยยศเป็นแม่เมืองสองแคว และพระมหาธรรมราชาทรงพระอิสริยยศที่ พระอุปราช แห่งแผ่นดินพระมหาจักรพรรดิ กรุงศรีอยุธยา
พระนางพญา ได้รับอิทธิพลทางพุทธศิลปะมาจากสกุลช่างสุโขทัยในพระราชสำนักโดยตรง ด้วยเมืองพิษณุโลกและสุโขทัยมีความใกล้ชิดกันมาตั้งแต่ราชวงศ์พระร่วงเป็น ใหญ่ในดินแดนภาคเหนือ พิมพ์ทรงของพระนางพญา เด่นชัดมากหากเปรียบเทียบกับพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย ในเรื่องสัดส่วน ทรวดทรง ศิลปะ อาจกล่าวได้ว่า การสร้างพระนางพญาเป็นการสืบสานศิลปะสุโขทัยบริสุทธิ์ในรูปพระเครื่องที่ ชัดเจนไม่บิดเบือน
ประวัติพระนางพญา พระนางพญา เป็นพระพุทธปฏิมาแบบนูนต่ำในรูปทรงสามเหลี่ยม ประทับนั่งปางมารวิชัย ไม่มีอาสนะหรือฐานรองรับ ทรวดทรงองค์เอวอ่อนหวานละมุนละไมและงามสง่าในที พระเครื่องนางพญา การแตกกรุของ พระเครื่องนางพญาก็คือเมื่อตอนปี พ.ศ. 2444 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเสด็จประพาสเมืองพิษณุโลก เพื่อทรงทอดพระเนตรการหล่อพระพุทธชินราชจำลอง และทรงได้เสด็จประพาสวัดนางพญาด้วย สันนิษฐานว่าทางวัดนางพญาก็คงพัฒนาปรับปรุงเคหสถานเพื่อเตรียมรับเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงและสร้างศาลาที่ประทับไว้ จึงได้พบพระเครื่อง กรุพระนางพญา และมีการคัดเลือกพระองค์ที่งดงามขึ้นทูลเกล้าถวาย และถวายราชวงศ์ใหญ่น้อย ตลอดจนแจกจ่ายข้าราชบริพารที่โดยเสด็จ จากการบันทึกคำบอกเล่าจากพระอาจารย์ขวัญ วัดระฆังฯ ว่าท่านได้รับคำบอกเล่าจากข้าราชการรุ่นเก่าผู้หนึ่ง ซึ่งมีบรรดาศักดิ์เป็นหลวง แต่ท่านจำชื่อไม่ได้แล้ว คุณหลวงผู้นั้นได้เล่าให้ท่านฟังว่า ได้พระนางพญามาจากพิษณุโลก 2-3 องค์ในคราวตามเสด็จพระพุทธเจ้าหลวงในครั้งนั้นด้วย พระนางพญา กรุวัดใหญ่ (วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ)
พระนางพญา เป็นพระเนื้อดินผสมว่านและเกสรดอกไม้ ปรากฏแร่กรวดทรายผสมผสานคลุกเคล้า กดเป็นองค์พระแล้วเสร็จ จึงนำไปเผา พระส่วนใหญ่จะมีเนื้อผสมว่านน้อยหรืออาจจะไม่มี เนื้อพระจึงดูค่อนข้างหยาบ แกร่งและแข็งมาก ที่เป็นเนื้อละเอียดจะผสมว่านมาก ทำให้เนื้อพระหนึกนุ่มสวยงาม ก็มีแต่พบเห็นน้อย
ติดตามเรื่องราวตำนาน สิ่งลี้ลับ เรื่องเล่าชวนหลอน : รีวิวเรื่องตำนานสิ่งลี้ลับเรื่องผี
สามารถติดตามเรื่องราวในตำนาน สิ่งลี้ลับ เรื่องเล่าชวนหลอนได้เพิ่มเติมที่แฟนเพจของเรา : Storyreview