ป่าแห่งความตาย (青木ヶ原)
ภูเขาไฟฟูจิ เป็นภูเขาที่สูงที่สุดใน ประเทศญี่ปุ่น มีความสูงราวๆ 3,776 เมตร หรือ (12,388 ฟุต) ตั้งอยู่ตรงบริเวณ จังหวัดชิซูโอกะ และ จังหวัด ยามานาชิ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกของ โตเกียว พื้นที่โดยรอบประกอบไปด้วย ทะเลสาบฟูจิทั้งห้า อุทยานแห่งชาติฟูจิ อุทยานแห่งชาติฮาโกเนะ อุทยานแห่งชาติอิซุ และ น้ำตกชิราอิโตะ ผืนป่าขนาดใหญ่ที่มีเรื่องราวของผืนป่า นามว่า อาโอกิกาฮาระ Aokigahara ป่าหนาทึบเขียวครึ้มที่ปกคลุมอยู่ก่อนทางขึ้นฟูจิซัง ที่เคยเป็นหนึ่งในสถานที่ที่คนนิยมมาจบชีวิตกันมากที่สุดของประเทศญี่ปุ่น ราวกับว่าที่นี่มีอาถรรพ์ที่ทำให้คนที่กำลังหมดอาลัยตายอยากพร้อมใจกันมาที่นี่กัน โดยไม่คิดจะหันหลังกลับสู่โลกภายนอกอีก
เรื่องราวป่าฆ่าตัวตายแห่งญี่ปุ่น อาโอกิกาฮาระ
ป่าอาโอกิกาฮาระ (Aokigahara) เป็นผืนป่าที่มีพื้นที่ราว 35 ตารางกิโลเมตร หรือมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า นทีแห่งไม้ หรือในภาษญี่ปุ่นเรียกว่า 樹海 (Sea of Trees) เป็นชื่อเรียกป่าบริเวณเชิงภูเขาฟูจิด้านตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่เลื่องลือเรื่องสถานที่ฆ่าตัวตายอันดับ 2 ของโลก รองจากสะพานโกลเด้นเกต (Golden Gate Bridge) แห่งซานฟรานซิสโก ในประเทศสหรัฐอเมริกา
ไม่ว่าจะด้วยบรรยากาศอึมครึมชวนให้หดหู่ จำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10-30% และสภาพซากศพของผู้ที่เดินทางมาฆ่าตัวตายในสถานที่แห่งนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้ ป่าอาถรรพ์ อาโอกิกาฮาระ กลายมาเป็นสถานที่สุดเฮี้ยนติดอันดับโลก อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าวิญญาณของผู้ตายจะยังคงสิงสถิตย์อยู่ตามพื้นดินและต้นไม้ในป่า คอยสร้างเหตุอาถรรพ์ต่าง ๆ และกันไม่ให้ผู้คนสามารถหลบหนีออกมาจากส่วนลึกของป่าได้อีกด้วย
แม้จะเป็นเรื่องที่ทราบกันดีว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีผู้ฆ่าตัวตายมากที่สุดในโลก แต่หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเลือก ป่าอาโอกิกาฮาระ เป็นสถานที่จบชีวิตจนกลายเป็นปรากฏการณ์ฆ่าตัวตายนั้น น่าจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อนักเขียน เซโช มัตสึโมโต ได้เขียนนิยายเรื่อง คุโรอิ ไคจู ขึ้นมา และใช้ป่าแห่งนี้เป็นสถานที่ที่ตัวละคร 2 ตัวมาฆ่าตัวตาย หลังจากนั้นมาก็มีคนแห่มาฆ่าตัวตายในป่าแห่งนี้อยู่บ่อย ๆ จนต้องมีการติดป้ายเตือนใจประเภท “ชีวิตมีค่า โปรดคิดอีกครั้ง” หรือ “คิดถึงครอบครัวก่อนจะทำอะไรลงไป” เลยทีเดียว
ภายในป่าแห่งนี้แม้ในช่วงกิโลแรกๆ ไม่ไกลจากถนนนักจะยังดูเป็นป่าโปร่ง ร่มรื่นสบายตา แต่ถ้าหากเดินลึกเข้าไปเรื่อยๆ ในทางที่มุ่งหน้าไปภูเขาไฟฟูจิแล้ว จะเริ่มพบกับป่าที่ดูดึกดำบรรพ์ รกทึบขึ้นเรื่อยๆ จนแทบไม่เจอสิ่งมีชีวิตอื่นใดเลย พื้นที่ของป่าอาโอกิกาฮาระนั้นเป็นแผ่นหินภูเขาไฟที่เกิดจากการเย็นตัวของลาวาที่ปะทุจากภูเขาไฟฟูจิเมื่อปีพ.ศ. 1407 หรือ ปีค.ศ.864 ประมาณเกือบ 1,200 ปีที่แล้ว
ในทุกๆปี เจ้าหน้าที่จะพบ ศพประมาณ 30 ร่าง จากข้อมูลพบว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ.1950 พบร่างถึง 500 ร่าง แต่หลังจากปี 2010 เป็นต้นมา ทางการก็หยุดการเผยแพร่สถิติดังกล่าว เพราะหวังว่าจะช่วยลดการเชื่อมโยงป่ากับการฆ่าตัวตายลงได้บ้าง พร้อมกับติดตั้งป้ายทั้งภาษาญี่ปุ่น และภาษาอังกฤษบริเวณปากทางเข้าป่า เพื่อย้ำเตือนผู้มาเยือนว่าอย่าคิดสั้น รวมถึงการติดตั้งแถบสัญลักษณ์ตามต้นไม้เพื่อแสดงเส้นทางออกจากป่าสำหรับคนที่เปลี่ยนใจ การฝึกอบรมอาสาสมัครให้มีทักษะพูดคุยกับคนที่คิดฆ่าตัวตาย การเพิ่มตำรวจลาดตระเวนป่า และการแปะป้ายบอกเบอร์โทรศัพท์หน่วยงานที่รับให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตโดยเฉพาะ
ในขณะเดียวกันถ้าญี่ปุ่นและประชาชนจำนวนมากก็ไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใดจัดอาสาสมัครที่คอยเดินตรวจตราในป่า เมื่อพบร่างผู้เสียชีวิตก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ให้มาเก็บศพต่อไป แต่ถ้าเจอคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย หรือยังไม่เสียชีวิต อาสาสมัครก็จะรับทำการช่วยเหลือในทันที
นอกจากนี้แล้วยังมีการนำเสนอตีแผ่เรื่องราวสยองขวัญไปเป็นภาพยนต์เรื่อง Suicide Forest Village ป่าผีดุ อีกด้วย ตำนาน และความเชื่อของป่าอาโอกิกาฮาระ มีความเชื่อกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณแล้ว ว่าป่าแห่งนี้เป็นที่สิงสถิตย์ของเหล่าภูตผี โดยเชื่อว่า ป่าแห่งนี้มีวิญญาณต้นไม้ หรือ โคดามะ (木魂) สิงสถิตย์อยู่ เหล่าวิญญาณของต้นไม้จะดูดเอาพลังงานชีวิตจากผู้เสียชีวิตกลับคืนเป็นพลังแห่งป่า
มีเรื่องเล่ามากมายว่าหากนำเข็มทิศมาใช้ในป่าแห่งนี้ เข็มทิศจะไม่ทำงาน ความจริงแล้วหากวางเข็มทิศลงบนหินในป่าตรงๆ เข็มจะชี้ไปตามสนามแม่เหล็กของหินแทน ก็เพราะทั่วทั้งแถบนี้เป็นหินภูเขาไฟทั้งหมด หากนำขึ้นมาวางบนมือก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ก็มีเรื่องเล่าอีกเช่นกันว่า สนามแม่เหล็กนั้นไปรบกวนสัญญาณโทรศัพท์บ้าง ทำให้เกิดภาพแปลกๆในกล้องวิดีโอบ้าง สัตว์เล็กๆอย่างนก และแมลงบางจำพวกที่ใช้สนามแม่เหล็กโลกนำทางก็หลีกเลี่ยงป่านี้ครับ เนื่องจากสนามแม่เหล็กในหินภูเขาไฟรบกวนประสาทสัมผัสแม่เหล็กโลกของสัตว์เหล่านั้น สำหรับในมนุษย์เองนั้น บางก็มีรายงานถึงการเห็น “ภาพหลอน” บ้างก็รู้สึกอึดอัดไม่สบาย ออกมาจากป่าก็ล้มป่วยไปเลยก็มี
สมัยก่อนที่ยังไม่มีใครมาคอยอธิบายด้วยเหตุผลทางวิทยาศาสตร์นั้น เคยร่ำลือกันว่าปรากฏการณ์เหล่านั้นเกิดจากน้ำมือของวิญญาณ (ยูเร 幽霊) ที่สิงสถิตอยู่ที่นี่ เนื่องจากสมัยก่อนช่วงยุคข้าวยากหมากแพงหรือขาดแคลนอาหาร มีการกระทำที่เรียกว่า อุบาสึเตะ (姥捨て การนำผู้สูงอายุไปทิ้งไว้ในป่า) เกิดขึ้นเป็นพักๆ เนื่องจากที่ป่านี้มีปรากฏการณ์ทางธรรมชาติแปลกๆ มากมาย การจะหลงทางกลับไม่ได้ อดอาหารจนตาย แต่บ้างก็ว่าผู้สูงอายุบางคนก็เต็มใจที่จะถูกพาเข้ามาในป่าเอง เพราะไม่ต้องการจะเป็นภาระให้กับคนในครอบครัว
อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ผู้มาฆ่าตัวตายยัง ป่าอาโอกิกาฮาระ อาจไม่เคยคำนึงถึงมาก่อน เห็นจะเป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชาวบ้านในละแวกป่า คนงานป่าไม้ และเหล่าตำรวจท้องถิ่น ที่ต้องพบกับเหตุการณ์อันน่าเศร้าและน่าหวาดหวั่นครั้งแล้วครั้งเล่า จากความตายที่เกิดขึ้นในอาโอกิกาฮาระ ชาวบ้านไม่ได้รู้สึกดีแม้แต่น้อยที่ท้องถิ่นของพวกเขากลายมาเป็นสถานที่ฆ่าตัวตายชื่อดัง และคนงานป่าไม้รวมถึงตำรวจในท้องที่ก็ต้องทนกับการพบเห็นเศษซากจากความตายภายในป่า ไม่ว่าจะเป็นศพที่แขวนคอตายอยู่บนต้นไม้ ร่างอันเปื่อยเน่า หรือแม้แต่ซากที่ถูกสัตว์ป่าลากไปกิน
แม้ว่าปัจจุบันนี้ ป่าอาโอกิกาฮาระ จะกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวซึ่งเคยใช้จัดกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น ตั้งแคมป์ หรือแข่งกีฬามาหลายครั้ง แต่ผู้ที่ไปเยี่ยมเยือนต่างก็สัมผัสได้ถึงบรรยากาศความหดหู่ของป่าอาถรรพ์ที่ยังคงอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งยังรู้สึกราวกับมีสายตาที่จับจ้องอยู่มากมายจากในป่า ทำให้ ป่าอาโอกิกาฮาระ ยังคงเป็นสถานที่อาถรรพ์ ที่รอต้อนรับนักท่องเที่ยวผู้กล้าหาญ ให้เข้าไปเยี่ยมชมธรรมชาติอันสมบูรณ์และสัตว์ป่าอย่างต่อเนื่อง
สถานที่ท่องเที่ยวในป่าแห่งนี้
แม้ในความลี้ลับก็มีความสวยงามอยู่ด้วย เพราะถึงอย่างไรที่นี่ก็ยังนับเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก มีถ้ำมากมายที่ก่อตัวขึนมาตั้งแต่โบราณจนกลายเป็นถ้ำที่แปลกตา และหาที่ไหนไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น
ถ้ำลมฟุกาคุ (Fugaku Lava Cave) เป็นทางไหลของลาวาที่ใหญ่ที่สุดในป่า ผนังส่วนใหญ่เกิดจากหินบะซอลต์ และมีอากาศไหลเวียนภายในเพียงพอต่อการเดินเที่ยว
ถ้ำน้ำแข็งนารุซาวะ ที่มีน้ำแข็งปกคลุมอยู่ตลอดทั้งปี พื้นถ้ำจะมีลักษณะเปียกและขรุขระ จนต้องใช้ความระมัดระวังในขณะที่เดินชมความงดงามของน้ำแข็งรูปทรงต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ภายในถ้ำ เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติที่เชื่อมต่อถ้ำทั้งสองแห่ง ท่ามกลางความลึกลับของท้องทะเลแห่งต้นไม้