STORYREVIEW
ตำนาน เรื่องหลอน เรื่องลี้ลับ 2023

ยักษ์ปู่แสะย่าแสะพิธีเลี้ยงผีของล้านนา

ยักษ์ปู่แสะย่าแสะพิธีเลี้ยงผีของล้านนา

‘ปู่แสะย่าแสะ’ ตามตำนานเป็นชื่อของยักษ์สองผัวเมียซึ่งเชื่อกันว่าเป็นต้นเค้าบรรพบุรุษของชาว ‘ลัวะ’ ที่ได้กลายมาเป็นผู้พิทักษ์รักษาเมืองเชียงใหม่ เรื่องราวปู่แสะย่าแสะมีเค้าโครงหลักที่สอดคล้องกับตำนานพระเจ้าเลียบโลกซึ่งแพร่หลายในภูมิภาคล้านนา ว่าด้วยการเผชิญหน้าระหว่างพระพุทธเจ้ากับปู่แสะย่าแสะและลูกซึ่งเป็นยักษ์ดุร้าย ตามตำนานกล่าวไว้อีกว่าปู่แสะย่าแสะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อพระพุทธเจ้า และหันมารับศีลห้าเลิกฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อย่างไรก็ตามการที่ปู่แสะย่าแสะเคยเป็นยักษ์มาก่อน จึงขออนุญาตต่อพระพุทธเจ้าที่จะกินสัตว์ตามสัญชาติญาณยักษ์ ความเชื่อดังกล่าวนำมาสู่การฆ่าควายเพื่อเซ่นสังเวยปู่แสะย่าแสะของชาวบ้านตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ‘เลี้ยงดง’ เป็นประจำทุกปีในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 9 เหนือ โดยในพิธีกรรมจะมีการลงทรงของม้าขี่ (คนทรง) ปู่แสะย่าแสะซึ่งจะทำการกินเลือดและเนื้อควายสด ในพิธีกรรมยังมีการแขวนผ้า ‘พระบฏ’ เป็นสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าสอดคล้องกับเรื่องราวในตำนาน

ยักษ์ปู่แสะย่าแสะพิธีเลี้ยงผีของล้านนา

หากพิจารณาถึงความเชื่อเรื่องผีในล้านนาอาจกล่าวได้ว่าปู่แสะย่าแสะสามารถจัดอยู่ในกลุ่ม ‘อารักษ์ ผีเมือง’ ทั้งนี้ คำว่าอารักษ์มักมีนัยของความหมายที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาด้วย นอกจากนี้ปู่แสะย่าแสะยังถูกกล่าวถึงในฐานะที่เป็น ‘เจนบ้านเจนเมือง’ ซึ่งเป็นคำเรียกหมายรวมถึง ‘สรรพผี’ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญที่ปกป้องรักษาเมืองไม่ว่าจะเป็น ผีบรรพกษัตริย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ผู้เฝ้ารักษาสถานที่ ตำแหน่ง จุดสำคัญต่าง ๆ ของเมือง เช่น ประตูเมือง แจ่ง (มุมกำแพงเมือง) ข่วง (ลาน) รูปเคารพ ต้นไม้ รวมถึงภูดอยศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ นอกจากนี้สำหรับชาวบ้านตำบลแม่เหียะ ปู่แสะย่าแสะยังนับเนื่องเป็นผีที่เกี่ยวข้องในพิธีกรรมการผลิตของท้องถิ่น กล่าวคือมีลักษณะคล้ายกับผีขุนน้ำ ที่บันดาลความอุดมสมบูรณ์แก่ผู้ใช้น้ำแม่เหียะบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเชียงใหม่อีกด้วย

เรื่องราวปู่แสะย่าแสะ มีปรากฏทั้งในเอกสารโบราณ อาทิ ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่, ตำนานเชียงใหม่ปางเดิม ธรรมตำนานวัดนันทาราม รวมถึงเอกสารร่วมสมัย เช่น ตำนานพระธาตุดอยคำ นอกจากนี้ยังปรากฏเป็นมุขปาฐะสำนวนชาวบ้าน ซึ่งมักมีเนื้อหาพิสดารออกไปทุกตำนานให้ความสำคัญกับปู่แสะย่าแสะในฐานะที่เป็น ‘เก๊าผี’ หรือ ต้นตระกูลของผีที่สำคัญทั้งปวงของเมืองเชียงใหม่เนื่องจากมีลูกมาถึง 32 ตน หนึ่งในนั้นคือ เจ้าหลวงคำแดง ผู้เป็นใหญ่ในผีทั้งปวงของล้านนา อนึ่งบรรดาลูก ๆ ของปู่แสะย่าแสะต่างแยกย้ายไปเป็นอารักษ์ดูแลรักษาบ้านเมืองต่าง ๆ เช่น เจ้าสร้อย ดูแลรักษาเมืองแม่แจ่ม (อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่) เจ้าบัวระพา ดูแลรักษาเมืองแหง (กิ่งอำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่) เจ้าสมภะมิตร ดูแลรักษาดงแม่คะนิล (อยู่ในอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่) ฯลฯ

ยักษ์ปู่แสะย่าแสะพิธีเลี้ยงผีของล้านนา
ยักษ์ปู่แสะย่าแสะพิธีเลี้ยงผีของล้านนา

ในอดีตการเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะ เป็นส่วนหนึ่งพิธีเลี้ยงผีเมืองที่จะกระทำอย่างพร้อมเพรียงกันหลายจุดทั่วทั้งเมืองเชียงใหม่ในช่วงเดือน 8 ถึง เดือน 9 (เหนือ) พิธีกรรมเลี้ยงผีปู่แสะย่าแสะยังคงดำรงสืบต่อมาโดยองค์กรชาวบ้าน และถูกเรียกในชื่ออย่างสามัญว่า ‘เลี้ยงดง’ ขณะที่ปู่แสะย่าแสะได้กลายเป็น ผี/สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำท้องที่แถบตำบลแม่เหียะ บริเวณดอยคำ นอกตัวเมืองเชียงใหม่ ซึ่งทุกปีชาวบ้านยังทำการเลี้ยงจนถึงปัจจุบัน

ติดตามเรื่องราวตำนาน สิ่งลี้ลับ เรื่องเล่าชวนหลอน : ตำนาน เรื่องหลอน เรื่องลี้ลับ เรื่องแปลกทั่วโลก 2023 บอกเล่าเรื่องราว

สามารถติดตามเรื่องราวในตำนาน สิ่งลี้ลับ เรื่องเล่าชวนหลอนได้เพิ่มเติมที่แฟนเพจของเรา : 10 เรื่องลี้ลับ