STORYREVIEW
STORYREVIEW
ตำนาน เรื่องหลอน เรื่องลี้ลับ 2023

พระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ

พระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ

  หลวงปู่โต๊ะ หรือพระราชสังวราภิมณฑ์ แห่งวัดประดู่ฉิมพลี กรุงเทพมหานคร พระเกจิอาจารย์ดัง ปลุกเสกวัตถุมงคลพระเครื่องอย่าง “พระปิดตา” ซึ่งมีพุทธคุณพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะหนุนนำลูกศิษย์ จนเกิดเป็นความเชื่อ ความศรัทธา หลายคนต่างมีประสบการณ์เกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ จนทำให้พุทธคุณพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะเป็นที่ลือเลื่องทั้งในไทยและต่างประเทศ

ประวัติและที่มาพระปิดตา

“พระปิดตา” ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศกัมพูชา ก่อนขยายอิทธิพลเข้าสู่วงการการสร้างพระเครื่องของไทย ในยุคแรกๆ พระปิดตาสร้างจากเนื้อโลหะ ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อพระ โดยลักษณะของพระเครื่องรุ่นนี้คือ ยกพระหัตถ์ขึ้นเพื่อปิดพระเนตร ซึ่งจะปิดทั้งพระพักตร์ เพราะเชื่อว่าเป็นการปิดทวารทั้ง 9 ได้แก่ ตา จมูก หู และปาก แสดงถึงความสงบในจิตใจ การตัดกิเลสจากโลกภายนอก เข้าสู่ทางธรรม ตลอดจนปฏิบัติกรรมฐาน

พระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ 5 รุ่นยอดนิยม พุทธคุณดีรอบด้าน

สำหรับพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะมีหลายรุ่น ตั้งแต่รุ่นที่สร้างขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ไปจนถึงรุ่นที่สร้างหลังจากท่ามรณภาพแล้ว โดยรุ่นที่ได้รับความนิยม มีดังนี้

1.พระปิดตา รุ่นที่ 1 จัมโบ้

สร้างขึ้นปี 2520 มีทั้งหมด 3 เนื้อ ได้แก่ เนื้อผงใบลาน 1,272 องค์ เนื้อผงเกสร 57 องค์ และเนื้อผงสมเด็จ 16 องค์ สร้างขึ้นในโอกาสครบรอบหลวงปู่โต๊ะอายุ 90 ปี โดยรุ่นนี้มีลักษณะและความพิเศษคือ องค์ขนาดใหญ่กว่าองค์อื่นๆ

2.พระปิดตา รุ่นเงินล้าน

พระปิดตารุ่นเงินล้าน มีที่มาจากในช่วงปี พ.ศ. 2521 ทางวัดได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ โดยรวบรวมเงินได้ทั้งหมด 1 ล้านบาทจึงนำมาตั้งเป็นชื่อรุ่นพระ โดยรุ่นนี้มีทั้งเนื้อเกสรและเนื้อใบลาน ปลายนิ้วกลมมน บริเวณสะดือกลมลึก มีมิติ ตะกรุดเงินประกอบด้วยทองแดง สังกะสี และนิกเกิล

3.พระปิดตา รุ่นปลดหนี้

เริ่มต้นการสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2521-2523 ใช้เวลาในการปลุกเสก 3 ปี สาเหตุที่เรียกว่ารุ่นปลดหนี้ เนื่องจากหลวงปู่โต๊ะชอบกล่าวให้พรว่า “ขอให้หมดหนี้หมดสินนะ” พร้อมกับมอบพระให้ มีพุทธคุณพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะด้านการเงิน สำหรับรุ่นนี้ด้านหน้าเป็นองค์พระปิดพระพักตร์ ด้านหลังมี 2 พิมพ์ ได้แก่ ยันต์นะมหาเศรษฐี และยันต์ตรีนิสิงเห

4.พระปิดตาพิมพ์กนกข้าง

พระปิดตาพิมพ์กนกข้าง สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2521 ได้รับความนิยมในกลุ่มชาวต่างชาติ ด้านข้างขององค์พระจะมีลักษณะโดดเด่นกว่าองค์อื่นๆ คือ จะมีลายกนก ลวดลายอ่อนช้อยบริเวณด้านข้าง ด้านหลังมียันต์ตรี พร้อมขอบเนื้อปลิ้น ปัจจุบันราคากลางอยู่ที่หลักหมื่น

5.พระปิดตามหาเสน่ห์

พระปิดตามหาเสน่ห์ สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2518 ด้านหน้าเป็นองค์พระปิดพระพักตร์ ด้านหลังมีอักษรหลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี โดยความพิเศษของรุ่นนี้คือ กดพิมพ์ที่วัดใหม่อมตรส ก่อนจะนำมาปลุกเสกที่วัดประดู่ฉิมพลี

พุทธคุณพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ

ลูกศิษย์หลายท่านที่บูชาพระปิดตา หลวงปู่โต๊ะได้กล่าวถึงพุทธคุณรอบด้านของพระปิดตาว่าช่วยเสริมโชคลาภ การถูกรางวัล การเงิน โดยเฉพาะผู้ทำธุรกิจหรือทำอาชีพค้าขายก็จะร่ำรวย และเมตตามหานิยม ตลอดจนบางรุ่นก็จะช่วยเสริมเรื่องเดินทางแคล้วคลาด ปลอดภัยด้วยเช่นกัน

พุทธคุณพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะรอบด้าน แต่ละรุ่นต่างมีประสบการณ์มากมาย จนกลายเป็นเรื่องเล่าขานปากต่อปาก ทำให้ปัจจุบันมีลูกศิษย์ทั่วฟ้าเมืองไทย ตลอดจนชาวต่างชาติ เช่น จีน ฮ่องกง หรือมาเลเซีย ศรัทธาและเลื่อมใสในพุทธคุณพระปิดตาหลวงปู่โต๊ะ

หลวงปู่โต๊ะ

พระราชสังวราภิมณฑ์ (โต๊ะ อินฺทสุวณฺโณ) วัดประดู่ฉิมพลี  เป็นเถราจารย์ที่ผู้คนนับถืออย่างกว้างขวาง มีพระเครื่อง พระปิดตา เป็น วัตถุมงคลเอกของท่าน ด้วยวัตรอันปฏิบัติอันงดงามเป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทุกชนชั้น ท่านถึงพร้อมด้วยบุญบารมีและอิทธิบารมี พระเครื่องของท่านมีปาฏิหาริย์ศักดิ์สิทธิ์ มีประสบการณ์เล่าขานมากมายจากเหนือจดใต้ทั่วประเทศไทย จนกลายเป็นพระหลักยอดนิยมของเมืองไทย และหลวงปู่โต๊ะเป็นภิกษุที่อยู่ในตำแหน่งเจ้าอาวาสยาวนานถึง 68 ปี 

ประวัติ “หลวงปู่โต๊ะ” วัดประดู่ฉิมพลี เกจิ ผู้สร้าง วัตถุมงคล มูลค่าหลักล้าน

หลวงปู่โต๊ะ เกิดเมื่อวันที่ 27 เดือน มีนาคม พ.ศ. 2430 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นบุตรของนายพลอย และนางทับ รัตนคอน มีพี่น้องอยู่ร่วมกัน 2 คน ซึ่งถึงแก่กรรมก่อนหลวงหลวงปู่โต๊ะตั้งนานแล้ว ในวัยเด็ก เด็กชายโต๊ะ ได้เข้าเรียนวิชาอยู่ที่วัดเกาะแก้ว ใกล้บ้านเกิดของท่าน เมื่อมารดาถึงแก่กรรม พระภิกษุแก้ว เห็นความขยันหมั่นเพียรของเด็กชายโต๊ะ จึงได้พาเด็กชายโต๊ะ มาฝากอยู่กับพระอธิการสุข เจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีในสมัยนั้น ส่วนนายเฉื่อยก็ไม่ได้ตามมาด้วย คงอยู่ที่วัดเกาะแก้วเหมือนเดิม ท่านได้มาเรียนหนังสืออยู่ที่วัดประดู่ฉิมพลีอยู่เป็นเวลาอยู่ 4 ปี ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 17 ปี 

  พ.ศ. 2447 เมื่อบรรพชาแล้ว ท่านก็มาเรียนศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่ วัดประดู่ฉิมพลี ทั้งกับพระอธิการคำ และพระอาจารย์พรหม วัดประดู่ฉิมพลีอีกท่านหนึ่งด้วย จนกระทั่งเมื่อมีอายุได้ 20 ปี สามเณรโต๊ะ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2450 ณ พัทธสีมา วัดประดู่ฉิมพลี โดยมีพระครูสมณธรรมสมาทาน (แสง) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูอักขรานุสิต (ผ่อง) วัดนวลนรดิศ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูธรรมวิรัต (เชย) วัดกำแพง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า อินทสุวัณโณ

  เมื่ออุปสมบทแล้ว  หลวงปู่โต๊ะ ได้เรียนศึกษาปฏิบัติคันทธุระ วิปัสสนาธุระ และสอบได้นักธรรมชั้นตรี ต่อมาพระอธิการคำ ได้มรณภาพลง ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้ง หลวงปู่โต๊ะ ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดประดู่ฉิมพลีสืบต่อมาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2456

  หลวงปู่โต๊ะ ได้ออกธุดงค์จาริกไปทั่วทุกภาคในประเทศไทย ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคใต้ ท่านได้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมและเรียนพุทธาคม โดยฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาอาจารย์รูปสำคัญหลายรูป เช่น หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน เรียนวิปัสสนากรรมฐานกับ หลวงพ่อชุ่ม วัดราชสิทธาราม ส่วนสหธรรมิกของท่านที่มีชื่อเสียงได้แก่ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง หลวงพ่อกล้าย วัดหงส์รัตนาราม และต่อจากนั้นท่านเดินทางไปธุดงค์ ยังภาคเหนือและภาคใต้ ก่อนจะกลับมายังวัดประดู่ฉิมพลี 

  หลวงปู่โต๊ะ ท่านได้เริ่มอาพาธด้วยโรคชรา เนื่องจากว่า ตั้งแต่ตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ มีผู้คนมานิมนต์ท่านให้ออกมาให้พร หรือ ขอความช่วยเหลือ ท่านจึงไม่ค่อยมีเวลาพักผ่อน สุขภาพท่านจึงไม่ค่อยแข็งแรง แต่ยังพอฉันอะไรได้ แม้จะรักษาอย่างดีเท่าใด แต่สุขภาพ กายสังขารของท่านก็ไม่อาจจะทนไหว

  หลวงปู่โต๊ะได้อาพาธ (เจ็บป่วย) ครั้งสุดท้ายเมื่อเดือน กุมภาพันธ์ พุทธศักราช 2524 และ ก่อนมรณภาพได้เพียง 7 วัน ท่านลุกจากเตียงไม่ได้เลย จนกระทั่งเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2524 คณะลูกศิษย์ทีเป็นพยาบาล ได้มาถวายรังนกอีก แต่คราวนี้สังเกตได้ว่า แขนของท่าน บวม ท่านอยู่ได้จนกระทั่งเมื่อเวลา 9:55 น. ท่านได้ถึงแก่มรณภาพลงด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ 93 ปี 73 พรรษา พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญศพไปตั้งที่ศาลา 100 ปี วัดเบญจมบพิตร พระราชทานเกียรติยศศพเป็นพิเศษ เสมอพระราชาคณะชั้นธรรม พระราชทานโกศโถบรรจุศพ

  พร้อมฉัตรเบญจาเครื่องประกอบเกียรติยศครบทุกประการ พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์แก่การศพโดยตลอด เสด็จฯ ไปทรงเป็นประธานในการทรงบำเพ็ญพระราชกุศล 7 วัน 50 วัน 100 วัน และตามโอกาสอันควรหลายวาระ พระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส

คาถาบูชา

บทแรก เป็นบทสวดอาราธนาพระปิดตา

ตั้งนะโม ๓ จบ

คะวัมปะติ จะ มหาเถโร ลาภะ ลาโภ นิรันตะรัง คะ วัมปะติ จะ มหาเถรัง ลาภะ สุขัง ภะวันตุเม

บทที่ 2 เป็นบทสวดพระคาถาแก้วสารพัดนึกขององค์หลวงปู่โต๊ะ

ตั้งนะโมสามจบ ตามด้วยบทไตรสรณคมน์

พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ทุติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ ธัมมัง สะระณัง คัจฉามิ

ตะติยัมปิ สังฆัง สะระณัง คัจฉามิ

(คำสวด) นะโม เม สัพพะพุทธานัง อุปปันนานัง มะเหสินัง ตัณหังกะโร มะหาวีโร เมธังกะโร มะหายะโส สะระณังกะโร โลกะหิโต ทีปังกะโร ชุตินธะโร โกณฑัญโญ ชะนะปาโมกโข มังคะโล ปุริสาสะโภ สุมะโน สุมะโน ธีโร เรวะโต ระติวัฑฒะโน โสภิโต คุณะสัมปันโน อะโนมะทัสสี ชะนุตตะโม ปะทุโม โลกะปัชโชโต นาระโท วะระ สาระถี ปะทุมุตตะโร สัตตะสาโร สุเมโธ อัปปะฎิปุคคะโล สุชาโต สัพพะ โลกัคโค ปิยะทัสสี นะราสะโภ อัตถะทัสสี การุณิโก ธัมมะทัสสี ตะโมนุโท สิทธัตโถ อะสะโม โลเก ติสโส จะ วาทะตัง วะโร ปุสโส จะ วะระโท พุทโธ วิปัสสี จะ อะนูปะโม สิขี สัพพะหิโต สัตถา เวสสะภู สุขะทายะโก กะกุสันโธ สัตถะวาโห โกนาคะมะโน ระณัญชะโห กัสสะโป สิริสัมปันโน โคตะโม สักยะปุงคะโว

* พุทโธ สัพพัญญุตะญาโณ มหาชนานุ กัมปะโก ธัมโม โลกุตตะโร วะโร สังโฆ มังคะผะลัฎโฐ จะ อินทะสุวัณณะ ปารมี เถโร อิจเจตัง ระตะนัตตะยัง เอตัสสะ อานุภาเวนะ สัพพะทุกขา อุปัททะวา อันตะรายา จะ นัสสันตุ ปุญญะลาภะ มะหาเตโช สิทธิกิจจัง สิทธิลาโภ สัพพะ โสตภี ภะวันตุเม ติ

(* บทหลังนี้ให้สวด 3 7 หรือ 9 จบ)

โดยทั้ง 2 บท ก่อนสวดให้เตรียมจิตใจให้สะอาดผ่องใส เปี่ยมไปด้วยสมาธิ และถ้าเป็นไปได้ควรรักษาศีล 5 อยู่เป็นนิจ

ติดตามเรื่องราวตำนาน สิ่งลี้ลับ เรื่องเล่าชวนหลอน : รีวิวเรื่องตำนานสิ่งลี้ลับเรื่องผี

สามารถติดตามเรื่องราวในตำนาน สิ่งลี้ลับ เรื่องเล่าชวนหลอนได้เพิ่มเติมที่แฟนเพจของเรา : Storyreview