STORYREVIEW
STORYREVIEW
ตำนาน เรื่องหลอน เรื่องลี้ลับ 2023

ผีนางรำ

ผีนางรำ ที่เรียกได้ว่าสร้างความเฮี้ยนให้กับสถานที่ต่างๆ ได้ไม่น้อย ซึ่งหากจะกล่าวอย่างติดตลกให้ลดความน่ากลัวสักหน่อย คงจะเรียก “ผีนางรำ” ได้ว่าเป็นผีที่ต้องมีออปชั่นเสริม นั่นก็คือมักจะมาพร้อมกับเสียงดนตรี อีกทั้งต้องเป็นเสียงดนตรีไทยเสียด้วย แล้วทำไมต้องเป็นดนตรีไทยล่ะ ดนตรีสากลไม่ได้หรือ และ อีกหนึ่งออฟชั่นที่ทำให้วพกเราทุกคนนั่นขนลุกซู่คือเสียง “หมาหอน” ซึ่งอาจจะมาก่อนหรือหลังเสียงดนตรีไทยแล้วแต่เหตุการณ์ แต่เชื่อว่าทุกคนคงจะเผ่นหนีทันทีโดยพร้อมเพียงกัน 

นอกจากเสียงล่ำลือว่า “ผีนางรำ” จะมาพร้อมกับเสียงดนตรีแล้วก็ยังมากับชุดนางรำ หรือชุดประจำท้องถิ่นที่แต่งองค์ทรงเครื่องเต็มยศ สร้างความหลอนสิบแปดตลบให้คนต้องขวัญผวากันถ้วนหน้ากับท่าร่ายรำที่อ่อนช้อย แต่แฝงไปด้วยความน่ากลัวสุดขนลุก โดยเรื่องเล่าขานส่วนใหญ่ลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า “ผีนางรำ” อาจจะเป็นบุคคลซึ่งเคยเป็นมนุษย์แต่เสียชีวิตขณะใส่ชุดรำ หรือบุคคลที่ทำอาชีพเป็นนางรำแต่ได้เสียชีวิตลงอย่างปริศนาและต้องการให้มนุษย์ที่ยังมีชีวิตอยู่อย่างเราได้ไขความลับเหตุผลที่เขาเสียชีวิต บ้างก็ว่าผีนางรำอาจเป็นผู้ที่ตอนเป็นมนุษย์ได้ทำผิดต่อครูทางด้านศาสตร์นาฏศิลป์ทำให้ชีวิตต้องจบลงอย่างสุดอนาถและเมื่อเสียชีวิตไปจึงกลายเป็นผีนางรำไปนั่นเอง 

เราจะพบ “ผีนางรำ” ได้ที่ไหนหรือไม่อยากพบที่ไหนไม่มีใครทราบแน่ชัด แต่จากคำบอกเล่าของผู้คนมักจะพบเจอที่ห้องนาฏศิลป์ในโรงเรียน ห้องดนตรีไทย บ้านเรือนไทยเก่า สถานทีที่เปลี่ยว หรือแม้กระทั่งบริเวณศาลเจ้าที่ตามต้นไม้ใหญ่ที่มีผ้าสีผูกไว้

ผีนางรำมีอะไรมากกว่าความหลอนอีกด้วย

ภาพหญิงสาวในชุดนางรำหน้าขาวโพลน ลูกตาสีขาวล้วน ริมฝีปากสีแดงสดที่มาพร้อมกับท่าทางการเยื้องกรายร่ายรำอันอ่อนช้อย แต่ดูเยือกเย็นชวนขนหัวลุก ดูจะเป็นภาพจำแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงเมื่อเอ่ยถึง “ผีแบบไทยๆ”

ที่เป็นอย่างนี้อาจเป็นเพราะในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา ตัวละครผีสาวสวมมงกุฎตาเขม็งนั้นได้ออกฤทธิ์ออกเดชให้ผู้ชมอกสั่นขวัญแขวนทั้งในภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์รวมกันถึง 25 เรื่อง (ภาพยนตร์ 10 เรื่อง ละคร 10 เรื่อง และซีรีส์ 5 เรื่อง) ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่องดังอย่างผีสามบาท (2544) อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต (2545) ผีคนเป็น (2549) หอแต๋วแตก แหกกระเจิง (2552) หรือละครสุดฮิตเมื่อปี 2558 อย่างนางชฎาและห้องหุ่น รวมไปถึงพิษสวาทเมื่อปีที่ผ่านมา

ด้วยภาพฉายซ้ำที่มักให้ผีนางรำปรากฎตัวเพื่อตามหลอกหลอนหรือเข่นฆ่า อาจทำให้หลายๆ คนคิดว่าผีนางรำเป็นแค่ตัวละครที่คอยคุกคามความรู้สึกให้ผู้ชมได้สยองกันเพียงเท่านั้น แต่ผีไทยประเภทนี้สามารถสะท้อนวิธีคิดในสังคมไทย และมีความหมายมากกว่าความน่าขนลุกขนพอง ความผูกพันทางด้านความเชื่อที่ไม่มีวันหนีพ้น

“แม่เนียน” ผีนางรำในภาพยนตร์เรื่องอารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต (พ.ศ.2545)

สำหรับผู้ผลิตสื่อ “ผีนางรำ” เป็นสัญลักษณ์หนึ่งที่สะท้อนความเป็นไทยได้อย่างสมบูรณ์ ในมุมมองร่วมของสมาชิกทีมงานเดอะช็อค รายการวิทยุที่ให้ผู้ฟังโทรมาเล่าถึงประสบการณ์เรื่องราวเร้นลับยอดฮิต ได้แก่ กพล ทองพลับ เจ้าพ่อรายการผี ไพโรจน์ ดำมินเศก หรือ ขวัญ น้ำมันพราย และณภัทร เหมวงศ์ หรือ นัท เดอะช็อค ภาพวิญญาณหญิงสาวในชุดไทยออกลีลาร่ายรำ คือภาพแทนของความผูกพันทางด้านความเชื่อที่คนไทยไม่มีวันหนีพ้น “คนไทยมักจะคุ้นเคยกับนางรำ ชุดไทย หรือตุ๊กตานางรำที่เห็นอยู่ตามศาลพระภูมิ เพราะมันเป็นความเชื่อที่เราผูกพัน มันเลยทำให้สามารถผูกเรื่องเข้าไปได้ และนาฏศิลป์ไทยนั้นมีความขลัง ความเก่า ความโบราณ เลยทำให้บรรยากาศดูน่ากลัวมากยิ่งขึ้น” เจ้าพ่อรายการผีกล่าว

นอกจากความใกล้ชิดทางวัฒนธรรมแล้ว เอกลักษณ์ของนางรำเอง ทั้งการแต่งองค์ทรงเครื่องที่ดูโบราณ การแต่งหน้าคมเข้ม หรือท่าทางการร่ายรำที่อ่อนช้อยแต่ชวนเสียวสันหลังยามได้พบเห็น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้กำกับภาพยนตร์หลายๆ คนหยิบมาพัฒนาต่อเป็นเรื่องราวที่คอยสร้างความน่าสะพรึงกลัวให้กับผู้ชม นนทรีย์ นิมิบุตร ผู้กำกับภาพยนตร์ อารมณ์ อาถรรพณ์ อาฆาต (2545) ที่ว่าด้วยคำสาปแช่งของหุ่นละครเล็ก ได้ให้คำตอบไว้อย่างสนใจไม่แพ้กันว่า “เพราะนางรำมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง แม้กระทั่งท่าร่ายรำ เล็บ เป็นหนึ่งในวิญญาณที่คนจะรับรู้และสัมผัสได้ง่ายถึงความน่าสะพรึงกลัว นอกจากนี้ ยังเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและสัมผัสได้ งานวันเกิดก็มีรำอวยพร งานศพก็มีการรำ คืออยู่ใกล้เรามากจนรู้สึกว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นกับนางรำ เราจะสามารถรู้สึกไปกับมันได้ เลยนำเรื่องนี้มาทำบนความเชื่อของการผิดครู การกระทำอะไรที่มันไม่ถูกต้อง” นนทรีย์อธิบาย

การนำนาฏศิลป์มาเล่าเป็นเรื่องสยองขวัญ​คือการทำลายศิลปะของชาติ?

ผีนางรำที่คอยอาฆาตเอาชีวิตตัวเอกในภาพยนตร์เรื่องผีคนเป็น ปีพ.ศ.2549

เมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการสะท้อนหรือดัดแปลงวัฒนธรรมของชาติ ข้อถกเถียงหนึ่งที่มักเกิดขึ้นคือ การทำเช่นนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของนาฏศิลป์เป็นสิ่งที่น่าเกรงขามมากกว่าน่าจับต้องหรือไม่ เช่น กรณีละครเรื่องนางชฎา (2558) ที่ทางทีมงานต้องรื้อแล้วถ่ายทำบางส่วนใหม่ เพราะมีการปรับให้ตัวละครหลักแต่งชุดธรรมดาเวลาตามหลอกหลอน จากที่ตอนแรกเป็นชุดนางรำ โดยภาคินัย กสิรักษ์ เจ้าของนามปากกา ภาคินัย ผู้ประพันธ์นิยายเรื่องดังกล่าวได้อธิบายทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ที่ต้องเปลี่ยนการแต่งกายนั้น เป็นเพราะเกรงว่าจะทำให้คนฝังใจกลัวว่านางรำต้องเป็นผี และนางรำคือสิ่งน่ากลัว หรือกรณีภาพยนตร์เรื่องเศียรสยอง (2558) ที่กลุ่มปกป้องนาฏดุริยางคศิลป์แห่งประเทศไทยออกมาต่อต้านการนำโขนไปใช้ในภาพยนตร์แนวสยองขวัญ รวมไปถึงกระแสวิจารณ์บนโลกออนไลน์ที่มองว่าการทำเช่นนี้จะทำให้ภาพลักษณ์ของนาฏศิลป์ไทยยิ่งมีความน่ากลัวมากกว่าความน่าเคารพ

ด้านนนทรีย์ ผู้กำกับมากประสบการณ์ก็ยังมั่นคงในจุดยืนในการนำนาฏศิลป์มาเสนอเป็นภาพความขนพองสยองเกล้าว่าไม่ได้เป็นการหมิ่นเหม่หรือตอกย้ำให้ภาพลักษณ์ของนาฏศิลป์กลายเป็นสิ่งที่ยากต่อการจับต้อง “เราทำอยู่บนความเชื่อในแบบไทย เราไม่ได้เอาเขามาฉีกแข้งฉีกขา ทำเป็นเซ็กซี่ หรือนำเขามาทำให้เสียภาพลักษณ์ของเขาที่เป็นอยู่ และปกติการทำงานจะมีที่ปรึกษาในด้านนี้อยู่แล้วว่าชุดนางรำนี้เอาไปทำอะไรได้บ้าง การที่เขาเป็นผีนางรำแล้วมีเลือดไหลออกจากตา มันก็เป็นไปตามบริบทของเรื่อง ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้ก้าวข้ามเส้นตรงนั้นไป” เขายังเห็นว่าวัฒนธรรมคือการเปลี่ยนแปลงที่สามารถเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เพราะถ้าหากไม่เปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมก็อาจกลายเป็นตำนานได้ในวันหนึ่ง

สอดคล้องกับความเห็นของ มณฑล อารยางกูร ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องผีคนเป็น (2549) ภาพยนตร์กระตุกขวัญที่มีผีนางรำคอยอาฆาตเอาชีวิตตัวเอก ที่มองว่าชุดความคิดที่ต้องการจะยึดมั่นและตั้งมั่นในความไม่เปลี่ยนแปลง อาจเป็นหนทางที่นำไปสู่การตายไปของนาฏศิลป์ ซึ่งก็เป็นที่น่าขบคิดว่าการวางไว้บนหิ้งเพียงอย่างเดียวนั้นเป็นทางที่เหมาะสมสำหรับการคงไว้ซึ่งมรดกทางวัฒนธรรมจริงหรือ “คำว่า ‘อนุรักษ์นิยม’ คืออย่าเปลี่ยนแปลงของเดิม มันมีแค่เส้นเดียวคือ ‘ไม่’ กับ ‘ใช่’ เท่านั้น คือให้เหมือนเดิมทุกประการ ไม่มีการปรับปรุงใหม่อะไรทั้งสิ้น ดังนั้น อนุรักษ์นิยมก็จะทำให้วัฒนธรรมตายไปสักวันหนึ่ง อย่างต่างชาติเขาทำของใหม่บนของเก่ามากมาย โครงสร้างข้างหน้าเขายังเป็นของเดิม แต่ข้างหลังเป็นของใหม่ แต่คนไทยทุบอย่างเดียวเลย” มณฑลกล่าว

มองความบันเทิง ให้เป็นความบันเทิง

วิญญาณนางรำผู้วนเวียนข้ามภพข้ามชาติอยู่กับกลองที่บรรจุท่อนแขนของเธอในภาพยนตร์เรื่องผีสามบาท ปีพ.ศ.2544

แม้ว่าผีนางรำ ตัวละครที่คอยสร้างความหวาดกลัวให้กับคนดูจะปรากฏตัวในรูปแบบหรือบริบทที่ต่างกันออกไปตามแต่ละเรื่องราวที่ถูกสรรค์สร้าง แต่ผู้ผลิตสื่อก็มองว่า ความบันเทิงที่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากสื่อก็ยังเป็นความบันเทิง ดังที่มณฑล ผู้กำกับภาพยนตร์แนวสยองขวัญได้ให้เหตุผลไว้ว่า “มันเป็นความบันเทิงน่ะ อย่างหนังหรือซีรีส์มันดูเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ดูเอากลัว เสร็จแล้วก็จบ คือสร้างให้คนเชื่อใน ณ ขณะนั้นที่ดู ออกโรงก็จบกันไป ที่สำคัญ หนังผีไม่ได้ทำให้คนงมงาย”

“บางทีเราก็คิดมากกันไปหรือเปล่า เราให้ความเคารพในงานนาฏศิลป์ เพราะมันคือขนบธรรมเนียมประเพณีไทย อาจจะมีบางกลุ่มที่เขาหยิบจับเอามาทำเป็นมุมความน่ากลัวบ้าง ‘ถ้าดูเพื่อความบันเทิง มันก็บันเทิง’ แต่ถ้าดูแล้วคิดเยอะคิดมาก ก็เครียดไป” คือใจความสำคัญที่กพล ผู้คร่ำหวอดในวงการมากว่า 20 ปีคอยย้ำกับผู้บริโภคอยู่เสมอ ทั้งเขาและขวัญ น้ำมันพรายนั้นมองว่าประเด็นอยู่ที่ว่าผู้บริโภคตัดสินใจที่จะเสพมันเพื่ออะไร  

“มันอยู่ที่มุมมองของเขาว่าคนดูจะชอบหรือจะเชื่อไหม เราสร้างเพื่อความบันเทิง เราก็รู้ว่าหนังผีนั้นสร้างขึ้นมาปลอมๆ แต่ทำไมเราถึงดูสนุกล่ะ แวบแรกที่เราเข้าไปดูหนังหรือฟังเรื่องผี เราต้องการอะไรก่อน เราต้องการความจริง หรือต้องการความสนุก” ขวัญ น้ำมันพรายกล่าว

ติดตามทัศนะของ ประวิทย์ แต่งอักษร นักวิจารณ์ภาพยนตร์ว่า ตัวละคร “ผีนางรำ” ชี้ให้เห็นวิธีคิดของสังคมไทยและผู้ผลิตสื่ออย่างไร