STORYREVIEW
STORYREVIEW
ตำนาน เรื่องหลอน เรื่องลี้ลับ 2023

ขุนพันธรักษ์ราชเดช

ขุนพันธรักษ์ราชเดช

ขุนพันธ์

เป็นตำรวจที่ค่อนข้างแปลกเมื่อมองจากปัจจุบัน เพราะเป็นตำรวจสายมูแบบจัดหนักจัดเต็ม จนมีสมญาว่า ‘จอมขมังเวทย์’ ทั้งๆ ที่ตำรวจถือเป็นหน่วยงานราชการสมัยใหม่ ถูกจัดตั้งขึ้นเพื่ออำนวยความสงบสุขแก่ประชาชนตามหลักศาสตร์ความรู้สมัยใหม่ แต่ก็เช่นเดียวกับอีกหลายต่อหลายเรื่องของสังคมไทยๆ ที่เมื่อเข้าไปดูเนื้อหาสาระแล้ว เราก็มักจะพบความไม่สมัยใหม่หรือ ‘ไม่เดิร์นเอาซะเลย’ (อยู่ตลอดเว)

ความมูของขุนพันธ์มาพร้อมกับการอ้างอิงถึงตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับภูมิหลังชีวิตการปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามเหล่าโจรผู้ร้ายจนมีชื่อเสียงโด่งดัง งานปราบปรามโจรผู้ร้ายสมัยก่อนเป็นงานอันตรายใหญ่หลวง หาจุดคุ้มทุนกับการเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายไม่ได้แล้วรอดมายืนยาวก่อนลาโลกไปในวัย 103 ปี ถูกผนึกรวมเป็นความน่าเชื่อถือและศักดิ์สิทธิ์แก่ความมูของขุนพันธ์ไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ตำรวจยุคขุนพันธ์มีอะไรหลายอย่างแตกต่างจากยุคปัจจุบันมากแน่ๆ แต่การเลือกหยิบยกเอาขุนพันธ์มาเป็น ‘วีรบุรุษ’ ของตำรวจไทยในรุ่นหลังมานี้เป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างมาก เป็นวีรบุรุษนั้นหมายถึงเป็นตัวแบบในอุดมคติ ซึ่งก็หมายความว่า ณ ขณะเวลาที่มีการยกย่องวีรบุรุษเช่นนั้น ก็มักจะเป็นเวลาเดียวกับที่อุดมคติที่ว่านั้นสูญหายไปไม่มีใครเป็นแบบนั้นอีกต่อไปแล้วนั่นเอง

ขุนพันธรักษ์ราชเดช

ขุนพันธ์เป็นตำรวจในยุคที่ไทยมีชุมโจรตั้งอยู่ทั่วไปในชนบท เป็นโจรที่มีความไม่ธรรมดาตรงที่โจรเหล่านี้มักได้รับสมญาเรียกขานนำหน้าชื่อโดยประชาชนและสื่อมวลชนว่า ‘เสือ’ เช่นมี ‘เสือฝ้าย’ ‘เสือดำ’ ‘เสือใบ’ ‘เสือมเหศวร’ ‘เสือกลับ’ ‘เสือสัง’ ‘เสือผ่อน’ ‘เสือปลั่ง’ ฯลฯ  

สังคมไทยๆ อาจมีจารีตโบราณเกี่ยวกับคำนำหน้าชื่อเป็นตำแหน่งยศถาบรรดาศักดิ์ แต่การมีคำว่า ‘เสือ’ นำหน้าชื่อเป็นเรื่องน่าสนใจยิ่งกว่ายศฐาบรรดาศักดิ์ใดๆและในการปราบเสือนั้นเอง ขุนพันธ์ค่อยๆ เป็นขุนพันธ์ในแบบที่เรารับรู้กัน วิธีการเอาชนะศัตรูโดยเรียนรู้จากศัตรูเป็นวิธีคลาสสิคที่รู้กันมานมนานในหลายวัฒนธรรม ถ้าไล่ไปถึงตำราศึกษารูปแบบวิธีการรบราฆ่าฟันกันอย่าง ‘พิไชยสงคราม’ แต่ในยุคหลังจากขุนพันธ์เกษียณอายุราชการไปแล้วก็ยังมีข้อมูลอีกมากที่แสดงถึงความไม่ได้เป็นประเทศปลอดโจรผู้ร้ายของสยามเมืองยิ้มแต่ประการใด เพียงแต่โจรเหล่านั้นไม่เรียกตัวเองหรือไม่ได้รับการอวยจากผู้คนว่า ‘เสือ’ เหมือนดังในอดีต

ดังที่มีภาษิตว่า ‘ชาติเสือไว้ลาย’ ในแง่นี้เสือกับความเป็นชายที่สมบูรณ์แบบนั้นเป็นเรื่องเดียวกัน  ความดุร้ายบางทีก็สะท้อนอำนาจบารมี ซึ่งสำหรับในหลายวัฒนธรรมของอุษาคเนย์เป็นสิ่งที่จะสามารถบันดาลให้โชคลาภและยศวาสนาแก่ผู้ที่อ่อนแอไม่มีสิทธิไม่มีเสียงได้ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่ต้องระมัดระวังเวลาอยู่ใกล้ ดังมีภาษิตว่า “นายรักเหมือนเสือกอด” เสือกับเจ้านายดูเหมือนจะถูกเทียบเคียงความคล้ายคลึงกันอยู่โดยนัย

ไม่อาจทราบเลยว่า  ตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่ที่เริ่มมีการอวยคนบางประเภทให้เป็น ‘เสือ’ เรื่องนี้มีมานานตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว ดังจะเห็นได้จากที่มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งได้รับสมัญญาว่า ‘พระเจ้าเสือ’ และในสมัยปลายกรุงธนบุรีถึงต้นรัตนโกสินทร์ กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท (บุญมา) อดีตขุนพลเอกของพระเจ้าตากสินท่านหนึ่ง ก็มีสมญาว่า ‘พระยาเสือ’

‘เสือ’

ได้รับการเคารพถึงกับมี ‘ศาลเจ้าพ่อเสือ’ ขึ้นหลายแห่ง  มีทั้งศาลเจ้าแบบจีนและศาลเจ้าพ่อแบบไทย บ้างมีตำนานเล่าว่าเป็นเสือจริงไม่ใช่คน แต่เมื่อตายกลายเป็นผีประจำถิ่น บ้างก็ว่าเป็นคนดุร้ายเมื่อสมัยมียังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายก็ว่าวิญญาณไม่ได้หายไปไหน ยังคงป้วนเปี้ยนวนเวียนอยู่ในสถานที่จึงต้องสร้างศาลให้อยู่เป็นที่เป็นทาง ลูกหลานได้เซ่นไหว้ขอความคุ้มครอง  

‘เสือ’ พบในจิตรกรรมและงานศิลปกรรมแขนงต่างๆ มาก บ้างปรากฏอยู่ในรูปคู่พญามาร เป็นพาหนะของพญามารที่มาก่อกวนพระพุทธเจ้าในคืนวันก่อนจะตรัสรู้ ในนิทานชาดกมีหลายชาติที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น ‘แมวใหญ่’

การอุปมาอุปไมย คนกับสัตว์ นอกจากเสือ ก็มีตัวอย่างอีกมากมาย ดังจะเห็นได้จากการเปรียบเปรยว่า ‘โง่เหมือนควาย’ ‘ช้าอย่างกับเต่า’ ‘ดื้อเหมือนแมว’ ‘ซนอย่างกับลิง’ ‘ตัวใหญ่เท่าช้าง’ ‘เล็กเท่ามด’ ‘ประจบประแจงเลียแข้งเลียขาเหมือนหมา’ ‘มีพิษเหมือนงู’ ‘บินได้ดั่งนก’ ‘ลิ้นสองแฉกแบบตะกวด’ ‘ขี้เกียจเหมือนหมู’ ‘ปราดเปรียวเหมือนม้า’ ‘พูดมากเหมือนนกแก้วนกขุนทอง’

ขุนพันธรักษ์ราชเดช
ขุนพันธรักษ์ราชเดช

‘เสือ’ มักจะเป็น ‘ขบถ’ ควบคู่กันไปด้วย แต่ ‘ขบถ’ ไม่ทุกคนจะเป็น ‘เสือ’ ไปด้วย ‘ขบถ’ แม้จะยังเป็นคน แต่ก็กลับสูงส่งกว่า ‘เสือ’ ทั้งนี้อาจเพราะขบถบางประเภทมีศักยภาพจะแทนที่อำนาจเดิมได้ เช่น ขบถของเจ้านายและกลุ่มชาติพันธุ์เงี้ยวในภาคเหนือ, ขบถผู้มีบุญในอีสาน, ขบถเจ้าแขกเจ็ดหัวเมืองในภาคใต้  บางประเภทไม่เรียกตัวเองว่า ‘ขบถ’ แต่การกระทำมันใช่ ก็เช่น อั้งยี่ในภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออก ‘เสือ’ บางคนเป็น ‘โจรสลัด’ เช่น ‘เสือผ่อน’ ที่เคยปล้นเรือสินค้าในแถบทะเลภาคตะวันออก  แต่โดยมาก ‘โจรสลัด’ มักไม่เรียกตัวเองหรือถูกเรียกว่า ‘เสือ’ มีบ้างที่เป็น ‘อั้งยี่’

ลักษณะเด่นของ ‘ขบถผู้มีบุญ’ จะเป็นเรื่องการอ้างอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของผู้นำ  ซึ่งการอ้างอย่างนี้มีในหมู่ชนชั้นสูงอยู่ก่อนแล้ว  ความเป็นระบบระเบียบมีขื่อแปของสังคมในส่วนนี้จะหมายถึงการห้ามไม่ให้ประชาชนคนธรรมดาทั่วไปสามารถอ้างกฤดาภินิหารได้ ชนชั้นปกครองอ้างได้ฝ่ายเดียว ‘ขบถผู้มีบุญ’ มีความแมสและเปิดเผยกว่า ‘เสือ’ จึงง่ายที่จะถูกนำกำลังเข้าปราบปราม  เสือมีความยืนหยุ่นกว่า  เพราะมักจะพัฒนามาจาก ‘นักเลง’

ทั้ง ‘เสือ’ และ ‘ขบถผู้มีบุญ’ จะมีกฎเหล็กไม่ทำร้ายคนในชุมชนของตนเอง  คนเหล่านี้แม้เป็น ‘คนแบดๆ’ ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ของรัฐส่วนกลาง แต่ก็ถือเป็น ‘ตัวแทนของหมู่บ้าน’

เมื่อการก่อกบฏอย่างตรงไปตรงมาถูกปราบลง ‘เสือ’ ก็มักจะเข้ามารับไม้ต่อ  แต่ก็น่าสังเกตว่า บริเวณที่เกิดมีเสือชุกชุมนั้นมักจะอยู่ที่ภาคกลางและภาคใต้ตอนบน  คืออยู่แค่ปลายจมูกของส่วนกลาง ที่เหลือมีบ้างในภาคอีสานและภาคตะวันออก  แต่ไม่มากเหมือนภาคกลาง ภาคกลางนั้นมีมากที่สุด  

ทั้งนี้อาจเพราะพื้นที่บริเวณภาคกลางตามหัวเมืองรอบนอก เช่น สุพรรณบุรี, ชัยนาท, อุทัยธานี, ลพบุรี,  ราชบุรี, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ชนบทและป่าเขาที่ยังไม่ถูกทางการเข้าควบคุมเป็นอันมาก และความอยู่ใกล้ตัวเมืองศูนย์กลางซึ่งเป็นแหล่งปฏิบัติการ ทำให้เมื่อปล้นแล้วสามารถหลบหนีได้  แค่ออกจากตลาดในเมืองหนีไปถึงเขตหมู่บ้าน ไร่นา และป่าเขา ก็เป็นที่ปลอดภัยสำหรับโจรแล้ว 

สายสัมพันธ์อีกรูปแบบที่โจรเสือมีกับชุมชน ยังได้แก่การฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์ชื่อดังที่ประชาชนในท้องถิ่นให้ความเคารพศรัทธาอีกด้วย การที่เสือมีครูอาจารย์ เป็นมากกว่าการจะได้เครื่องรางของขลัง เพราะนั่นจะทำให้เสือเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ควบคุมเสือได้อีกต่อหนึ่ง  หากมีเรื่องร้อนใจได้รับความเดือดร้อน ต้องการความคุ้มครอง หรือถูกเสือต่างถิ่นรังแก พระภิกษุผู้เป็นอาจารย์ของเสือนั้นแหล่ะที่จะเป็นผู้รับเรื่องราวร้องทุกข์จากชาวบ้านได้ ชาวบ้านในชนบทจึงไม่กลัวเสือ เพราะเสือควบคุมได้ แถมยังอาจเป็นลูกหลานหรือคนในวงวารว่านเครือของตนอีกด้วย

แต่กับเจ้าหน้าที่ของรัฐส่วนกลางเป็นตัวละครที่ชาวบ้านไม่เพียงไม่สามารถควบคุมได้ อำนาจต่อรองก็น้อยจนแทบไม่มี อีกทั้งคนของทางการเมื่อเข้าไปในชุมชนยังมักแสดงตัวเป็นเจ้าใหญ่นายโตกดขี่ข่มเหงชาวบ้านอีก คนจากราชการส่วนกลางแลดูไม่มีประโยชน์แถมคุกคามสำหรับวิถีชีวิตสงบสุข ผิดกับโจรซึ่งปล้นคนภายนอกไม่ปล้นหมู่บ้านตนเอง

เมื่อเป็นเช่นนี้หากต้องเลือกระหว่าง ‘เสือ’ กับคนของทางการแล้ว จึงไม่แปลกที่ชาวบ้านจะเลือกเสือมากกว่าทางการ เสือจึงอยู่รอดได้ท่ามกลางยุคสังคมชนบทที่ยังไม่ถูกพัฒนาให้กลายเป็นเมืองในวิถีชนชั้นกลางไปหมด

ขุนพันธรักษ์ราชเดช
ขุนพันธรักษ์ราชเดช

ในงานที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ของ เดวิด บรูช จอห์นสตัน เรื่อง “สังคมชนบทและภาคเศรษฐกิจข้าวของไทย พ.ศ.2423-2473” ได้แสดงให้เห็นว่า งานยากโหดหินที่สุดสำหรับส่วนกลางในการกดปราบคนชนบทนั้นนอกจากการปราบขบถผู้มีบุญแล้ว ยังต้องรับมือยาวนานกับพวกโจรผู้ร้ายต่างๆ ที่คนชนบทสร้างออกมาเป็นตัวแทนต่อต้านรัฐส่วนกลางอยู่ตลอด  เป็นงานที่ลำพังตำรวจไม่อาจทำได้ ต้องใช้กองทหารที่มีอาวุธครบมือ แต่เมื่อนำกำลังบุกทลายรังโจรแล้วผู้นำก็มักจะหลุดรอดไปก่อตั้งชุมโจรขึ้นมาใหม่ได้อีกไม่นานหลังจากนั้น      

ในพ.ศ.2434 ก่อนการเริ่มปฏิรูปมณฑลเทศาภิบาลสมัยรัชกาลที่ 5 ไม่ถึงหนึ่งปี  สยามต้องส่งกำลังทหารเข้าไปปราบพวกโจรขโมยควายขนานใหญ่ที่ชลบุรี  ภายใต้การบังคับบัญชาของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ครั้งนั้นได้จับกุมผู้ร้ายได้กว่า 1,600 คน ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนที่อีกหลายปีกองทหารนี้จะต้องเผชิญกับการลุกฮือครั้งใหญ่ของคนอีสานหลังการปฏิรูป

ขณะที่ฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองจันทบุรีหลังเหตุการณ์กรณีร.ศ.112 ก็ต้องเผชิญกับการก่อกบฏของคนจีนในรูปอั้งยี่ จนต้องนำกำลังเข้าปราบปรามครั้งใหญ่ด้วยเช่นกัน แต่อั้งยี่จะไม่ถูกอธิบายว่าเป็นคนจันท์ที่ถูกฝรั่งเศสปราบปราม  เพราะอั้งยี่มีภาพพจน์เป็นโจรผู้ร้ายโดยสัมบูรณ์มาตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งเป็นผลสืบมาจากกรณีอั้งยี่ยึดเมืองฉะเชิงเทราในสมัยรัชกาลที่ 3 

การปราบปรามด้วยการใช้กำลังทหารนั้นอาจเหมาะกับชุมโจรที่มีสถานที่ตั้งมั่นชัดเจน แต่กับเสือในรุ่นหลังโดยเฉพาะตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2470 เป็นต้นมา การใช้กำลังทหารเริ่มจะเป็นเรื่องสิ้นเปลืองและไม่มีประสิทธิภาพ เปรียบเหมือน ‘ขี่ช้างไล่มด’  เพราะชุมเสือมีขนาดเล็กลงและกระจัดกระจายกันมากด้วย ทำให้ยากต่อการติดตาม บทบาทหน้าที่ในการปราบปรามจึงตกเป็นของตำรวจ และนั่นก็เป็นช่วงเวลาหลังจากที่มีการปรับปรุงจาก ‘กองตระเวน’ ในเมือง มาเป็น ‘ตำรวจ’ ซึ่งมีขอบข่ายการปฏิบัติหน้าที่เข้ามาครอบคลุมพื้นที่ชนบทมากขึ้น 

ที่สำคัญตำรวจยังเป็นหน่วยงานที่พัฒนามาจากการรับลูกหลานคนชนบทเข้ามาจับอาวุธอีกด้วย หลังจากนั้นมา ‘ตำรวจปราบโจร’ ก็คือลูกหลานคนชนบทปะทะกับคนชนบทด้วยกัน แต่เป็นคนที่ถูกตัดขาดสายสัมพันธ์เครือญาติ  ต้องมาห่ำหั่นกันเอง เป็นศึกระหว่าง ‘ตัวแทนของหมู่บ้านหนึ่ง’ กับ ‘ตัวแทนของอีกหมู่บ้าน’  ไม่ใช่ตัวแทนคนชนบทกับคนของส่วนกลางเหมือนอย่างในอดีตก่อนหน้า  

และช่วงนี้เองเป็นเวลาที่ขุนพันธ์ เด็กหนุ่มจากนครศรีธรรมราชได้เริ่มต้นชีวิตราชการ

ติดตามเรื่องราวตำนาน สิ่งลี้ลับ เรื่องเล่าชวนหลอน : รีวิวเรื่องตำนานสิ่งลี้ลับเรื่องผี

สามารถติดตามเรื่องราวในตำนาน สิ่งลี้ลับ เรื่องเล่าชวนหลอนได้เพิ่มเติมที่แฟนเพจของเรา : 10 เรื่องในตำนาน